บุคลิกในการให้บริการ

บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะอันเป็นของจำเพาะแต่ละบุคคล ซึ่งแสดงออกทางท่าทาง ความรู้สึกนึกคิด ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนกิริยามารยาท ลักษณะนิสัย และอุปนิสัย

การเสริมสร้างบุคลิกลักษณะของบุคคล
บุคลิกลักษณะของบุคคล สามารถดัดแปลง แก้ไข เสริมสร้าง ให้ดีขึ้นได้ บุคลิกภาพที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฝึกหัด ปรับปรุงกริยา ท่าทางและลักษณะต่างๆ
การเสริมสร้างบุคลิกลักษณะบุคคลมี 7 ประการคือ
1. The way you look (การมอง)
2. The way you dress (การแต่งกาย)
3. The way you talk (การพูด)
4. The way you walk (การเดิน)
5. The way you acts (การแสดงท่าทาง)
6. The skill with which you do thing (ทักษะในการทำงานในหน้าที่)
7. Your health (สุขภาพ)

กลวิธีปรับปรุงแก้ไขให้มีบุคลิกลักษณะดีขึ้น
1. จงเป็นคนใจคอกว้างขวาง
2. จงให้ความร่วมมือกับผู้อื่น
3. จงเป็นตัวของตัวเอง
4. จงแสวงหาคำแนะนำ
5. จงลงมือกระทำจนกว่าจะถูกต้อง
6. จงตรวจสอบผลความก้าวหน้าของท่าน

สำหรับพนักงานติดต่อบริการให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ
ในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มนุษย์ประกอบกิจขึ้นมาในโลกนี้ แต่ละอาชีพหรือหน้าที่ย่อมมีข้อแตกต่างในเชิงปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของเขตงานนั้นๆ

อาชีพนักบริการ ก็เช่นกัน บุคคลซึ่งรับผิดชอบในหน้าที่นี้ ย่อมควรต้องมีคุณสมบัติสำคัญหลายประการ เพราะเป็นงานที่ต้องปฏิบัติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ การเอาชนะเครื่องจักรและตัวเลขเอกสารถือเป็นงานปราศจากชีวิตชีวา แต่งานที่ต้องเอาชนะใจมนุษย์ได้นั้น เป็นงานศิลปที่ละเอียดอ่อนและท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจหากผู้ปฏิบัติได้กระทำโดยถูกวิธี เขาจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขตลอดไป เพราะจะแวดล้อมด้วยมิตรและความสำเร็จ

องค์ประกอบสำคัญของนักบริการ
ด้านมนุษย์สัมพันธ์ (HUMAN RELATIONSHIP)
1. มีใบหน้ายิ้มแย้มเสมอ
2. พูดจาให้ชัดเจน ไพเราะ และเรียบร้อย
3. แต่งกายให้เรียบร้อยและสะอาด
4. เป็นคนดี น่ารัก สุภาพ และบุคลิกสง่าผ่าเผย
5. บริการให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้
6. ไม่จำเป็นต้องรับคำเสมอไป แต่จะต้องพยายามให้ดีที่สุดที่จะไม่กล่าวคำปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมากับผู้ที่ มาติดต่อ เพราะยังมีวิธีพูดอีกหลายวิธีที่ใช้แทนกันได้
7. ในการติดต่อกับผู้ที่มาติดต่อที่เอาแต่ใจตัว ไม่ยอมเข้าใจง่ายๆ จงแนะนำอธิบาย แสดงความเสียใจหรือนิ่งแล้วแต่กรณี แต่อย่าได้ทะเลาะโต้เถียง พูดย้อนหรือขึ้นเสียงเป็นอันขาด
8. ลูกค้าที่มาติดต่อเป็นฝ่ายถูกเสมอ
9. ต้องจำได้ว่า ไม่มีใครชนะในการโต้เถียง
10. จงรักษาอารมณ์ไว้ เพื่อรักษาตำแหน่ง

ศิลปโน้มน้าวจิตใจ (PERSUASIVE TECHNIQUE)
1. จงให้ความสนใจแก่ผู้นั้น หรือกลุ่มนั้นอย่างจริงใจ ท่านจะได้รับการต้อนรับและสนใจจากทุกคนทุกหนแห่ง นักบริการที่ดีไม่ควรพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง แต่จงให้ความสนใจแก่เขา และเรื่องที่เกี่ยวกับเขา แสดงออกไปทั้งทางกิริยา วาจา และใจ
2. ความยิ้มแย้ม เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความประทับใจให้แก่ทุกคนเมื่อแรกพบ
3. จงจำชื่อผู้ที่มาติดต่อให้ได้และใช้เรียกได้อย่างถูกต้อง เพราะทุกคนจะรู้สึกว่าคำพูดที่ไพเราะที่สุดและมีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับเขา ก็คือ ชื่อของเขานั่นเอง
4. จงเป็นนักฟังที่ดี ด้วยการให้ความสนใจเรื่องที่เขาพูดและยั่วยุให้เขาพูดเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา ไปเรื่อยๆ ตามความพอใจของเขา
5. จงพูดในเรื่องที่เขากำลังสนใจ ได้แก่เรื่องที่เขากำลังคลั่งไคล้เรื่องที่เกี่ยวกับความรู้ ความชำนาญของเขาเอง เรื่องที่เขากำลังภาคภูมิใจ หรือเรื่องที่เขาพึ่งได้รับความตื่นเต้นมาใหม่ๆ
6. จงทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ หรือชี้ให้เห็นจุดสำคัญดีเด่นในตัวเขาและจงทำเช่นนั้นด้วยความจริงใจ ทุกคนจะรู้สึกชอบท่านทันที เพราะทุกคนชอบยอ และชอบที่มีใครยกย่องแม้จะเป็นยอกันต่อหน้าที่ก็ตามที

 

บัญญัติ 10 ประการ ในการเชื่อมสัมพันธไมตรี
1. “ทักทาย” ไม่มีอะไรน่าชื่นใจเท่ากับคำกล่าวทักอย่างจริงใจ
2. “ยิ้ม” ถ้าคุณหน้าบึ้ง กล้ามเนื้อ 72 ชิ้น จะต้องออกกำลัง ในขณะที่คุณยิ้มจะใช้กล้ามเนื้อ เพียง 14 ชิ้นเท่านั้น
3. “ชื่อของบุคคลที่คุณเรียก” จะเป็นดนตรีอันไพเราะที่สุดสำหรับเจ้าของชื่อ
4. “มีมิตรภาพและน้ำใจ” เพื่อที่เขาจะมอบมิตรภาพและน้ำใจกลับมาให้คุณบ้าง
5. “จริงใจ” อย่าเสแสร้ง ท่าทางและคำพูด จงทำทุกอย่างด้วยน้ำใสใจจริง
6. “ใส่ใจในผู้อื่น” จงพยายามชอบคนรอบข้างของคุณให้ได้
7. “เผื่อแผ่คำชม” แต่จง “สงวนคำติ”
8. “นึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น” ถ้ามีข้อโต้แย้ง อย่าลืมว่านอกจากคุณแล้ว ก็มีฝ่ายตรงข้ามและความถูกต้องที่ต้องคำนึงถึง
9. “พร้อมที่จะให้บริการ” การให้ที่มีความหมายต่อผู้รับมากที่สุดคือ “การให้บริการ”
10. “เพิ่มอารมณ์ขัน อดทนให้มาก ถ่อมตนสักเล็กน้อย” และคุณจะชื่นชมในผลลัพธ์ที่ได้มา

แนวทางในการพัฒนาบุคลิกภาพ ทำได้ด้วยการใส่ใจต่อการปฏิบัติตนให้หลายๆ ด้าน ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. การรักษาสุขภาพอนามัย เพื่อให้บุคลิกภาพดีตามไปด้วย ทำได้โดย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่ม หรือลดผิดปกติ
- ละเว้นการสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดให้โทษทุกชนิด
- ไม่ดื่มสิ่งของที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชม.
- รักษาอารมณ์ให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ

2. การดูแลร่างกาย เพื่อให้บุคลิกภาพดีตามไปด้วย ทำได้โดย
- รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน
- ดูแลรักษาเส้นผมและทรงผมให้เรียบร้อยทั้งด้านความสะอาดและรูปทรง
- โกนหนวดเคราให้เกลี้ยงเกลา
- รักษาผิวพรรณให้สะอาดสดชื่นอยู่เสมอ อย่าให้ผิวแห้งกร้าน
- รักษากลิ่นตัว
- รู้จักการแต่งหน้าแต่พองาม
- ดูแลเล็บมือ เล็บเท้า ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าและชุดชั้นในที่สวมใส่ทุกวัน
- ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
- เมื่อร่างกายมีอาการผิดปกติรีบไปปรึกษาแพทย์

3. การแต่งกายเพื่อส่งเสริมบุคลิกภาพ ทำได้โดย
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ซักรีดให้เรียบ
- สีสันไม่ฉูดฉาด ควรเลือกสีให้เหมาะสมกับรูปร่างและผิวพรรณของตนเอง
- กระเป๋าถือและรองเท้า ควรใช้หนังที่มีคุณภาพดี สีเรียบ สำรวจส้นรองเท้าจัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อย
- แต่งหน้าให้แนบเนียน ไม่แต่งเข้มผิดธรรมชาติ เลือกใช้เครื่องสำอางที่มีคุณภาพดี
- เล็บและการทาเล็บ ไม่ควรไว้เล็บยาวจนเกินไป ควรเลือกสีกลางๆ อย่าปล่อยให้สีถลอกจะไม่น่าดู
- ผม หมั่นสระให้สะอาด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แปรงหวีให้เรียบร้อย เลือกทรงผมที่รับกับใบหน้า
- เครื่องประดับ ควรใช้เพื่อเสริมการแต่งกายให้ดูดีขึ้น แต่ไม่ควรใช้เครื่องประดับมากจนเกินไปจนดูสะดุดตารกรุงรังไปหมด
- ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม
- ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

4. การควบคุมอารมณ์และความเชื่อมั่นในตนเอง ทำได้โดย
ไม่ ปล่อยอารมณ์ไปตามใจตนเอง คนที่ควบคุมอารมณ์ตนเองได้จะได้เปรียบและจะเอาชนะเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ในการปฏิบัติงานเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนอารมณ์ กันอยู่เสมอ ฉะนั้น บุคคลใดก็ตามที่ต้องการจะพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้ดีขึ้น จะต้องเป็นคนรู้จักอดทนใจเย็นเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเกิดขึ้น

5. การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองนั้น ทำได้โดย
- ยอมรับในความสามารถของตนเอง
- ถือคติว่าการทำงานสิ่งใดเมื่อทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด
- อย่านำความเก่งของผู้อื่นมาทับถมตนเอง
- หมั่นฝึกจิตใจตนเองให้ชนะความกลัวให้ได้